TH : EN

หลักจรรยาบรรณ

ประกาศคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
ฉบับที่ ๑/๒๕๖๒
ว่าด้วย ประมวลหลักจรรยาบรรณคณะวิทยาการจัดการ

    เพื่อให้การดำเนินงานของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลเจ้าหน้าที่ของรัฐและยุทธศาสตร์ ที่ ๔ (การใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน) ระยะ ๑๒ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๑) ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ จึงได้ออกประกาศว่าด้วยประมวลหลักจรรยาบรรณคณะวิทยาการจัดการ ดังต่อไปนี้

ค่านิยมหลัก

    บุคลากรของคณะในทุกระดับ จักต้องตระหนักถึงความสำคัญและประพฤติปฏิบัติตนตามค่านิยมหลักของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อหล่อหลอมให้เป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ดังนี้

๑) สำนึกดี (Integrity)

๒) มุ่งมั่น (Determination)

๓) สร้างสรรค์ (Knowledge Creation)

๔) สามัคคี (Unity)

เจตนารมณ์คณะวิทยาการจัดการ

    คณะวิทยาการจัดการตระหนักถึงความสำคัญของธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน อันเป็นองค์ประกอบหลักในการเสริมสร้างคณะให้มีความเข้มแข็งและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน มีศักยภาพในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง ทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการ ศีลธรรม ภาษา เทคโนโลยี และวัฒนธรรมข้ามชาติ ที่บัณฑิตของคณะสามารถนำไปใช้ในการดำรงตน การประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง ก้าวหน้า และ ประสบความสำเร็จ การใช้ทรัพยากรของคณะจึงต้องเน้นไปที่การสร้างคุณภาพการศึกษาให้กับนิสิตอย่างคุ้มค่า

    บุคลากรของคณะถือเป็นเสาหลักในการดำเนินงาน คณะจักต้องรับผิดชอบต่อบุคลากรทุกคนในฐานะทรัพยากรที่มีคุณค่า โดยเคารพในเกียรติความเป็นมนุษย์อย่างสมศักดิ์ศรี ให้มีความมั่นคงในงานและให้คุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม ให้โอกาสก้าวหน้าในอาชีพอย่างเท่าเทียมกันตามคุณสมบัติที่แต่ละบุคคลมีอยู่ให้ความเอาใจใส่ในทุกวิถีทางเพื่อสนับสนุนบุคลากรให้ประสบความสำเร็จในสายงาน สภาพที่ทำงานมีความปลอดภัย สะอาดเรียบร้อย บุคลากรทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและร้องทุกข์ และต้องได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม

    คณะต้องมีความรับผิดชอบต่อชุมชนที่คณะตั้งอยู่ โดยปฏิบัติตนในฐานะพลเมืองที่ดีของสังคม ให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านต่างๆ ของชุมชน ปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ คณะมีความเชื่อว่า ถ้าคณะดำเนินงานตามเจตนารมณ์ข้างต้นนี้แล้ว คณะจะสามารถผลิตบัณฑิตให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพสูง จนเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนคณะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประเทศชาติโดยรวมให้เจริญก้าวหน้าต่อไปด้วยดี

หลักจรรยาบรรณในเชิงนโยบายของคณะวิทยาการจัดการ

    ในการที่จะดำรงไว้ซึ่งผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องและเสริมสร้างชื่อเสียงอันดีงามให้ดำรงไว้อย่างยั่งยืน คณะ มุ่งมั่นที่จะดำเนินงานภายใต้กรอบของกฎหมาย ระมัดระวัง รอบคอบ โปร่งใสและเปิดเผย มีความจงรักภักดีต่อมหาวิทยาลัย โดยเน้นการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ มีการบริหารความเสี่ยงตามหลักธรรมาภิบาล ผู้บริหารคณะ จึงได้นำหลักธรรมาภิบาลมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของคณะ และมีการติดตามผลการปฏิบัติตามนโยบาย โดยประกาศใช้หลักจรรยาบรรณ ดังนี้

๑) การปฏิบัติตนของคณะต่อบุคลากร

    คณะ ตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากรในฐานะทรัพยากรที่มีค่า ดังนั้นคณะต้องเอาใจใส่ ดูแลและส่งเสริมชีวิต ความเป็นอยู่ของบุคลากร บนพื้นฐานความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีต่อกัน เพื่อสร้างสังคมแห่งความเป็นมิตร การแบ่งปันความรู้ การช่วยเหลือเกื้อกูล ตลอดจนส่งเสริมความก้าวหน้าและเติบโตที่ยั่งยืนให้กับบุคลากร ดังนั้นคณะพึงปฏิบัติต่อบุคลากร ดังนี้

   ๑.๑) สิทธิมนุษยชน คณะเชื่อและเคารพในสิทธิของบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด และสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล อันได้แก่ สิทธิที่จะได้รับความจริงใจ สิทธิว่าด้วยความลับ สิทธิว่าด้วยเสรีภาพในการรู้ผิดรู้ชอบ สิทธิว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิว่าด้วยการครอบครองทรัพย์สินส่วนตัว และ สิทธิว่าด้วยการดำเนินชีวิตและความปลอดภัย นอกจากนี้ คณะจะต้องมีความเอื้ออารี ปฏิบัติต่อบุคลากรทุกคนอย่างเสมอภาค เอาใจใส่และรับฟังความคิดเห็นด้วยความยุติธรรม การให้ความสำคัญกับทุกตำแหน่งหน้าที่ ทุกส่วนงาน โดยไม่เลือกปฏิบัติ

   ๑.๒) การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การเปิดโอกาสให้บุคลากรใช้ความรู้ความสามารถในการทำงานอย่างเต็มที่ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถและเสริมสร้างประสบการณ์ของบุคลากรเพื่อพัฒนาสมรรถนะ โดยส่งเสริมให้บุคลากรได้รับการฝึกอบรมทั้งจากภายในและภายนอกคณะ ยกระดับคุณวุฒิการศึกษา ตำแหน่งทางวิชาการ ตลอดจนการเรียนรู้ตลอดชีพ เพื่อให้บุคลากรได้พัฒนาความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก นอกจากนี้ คณะเปิดโอกาสให้บุคลากรได้สร้างความก้าวหน้าในตำแหน่งงานตามศักยภาพของแต่ละบุคคล เพื่อการเติบโตในอาชีพ

   ๑.๓) คุณภาพชวิตในการทำงาน คณะตระหนักถึงความสมดุลของชีวิตและงาน การช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน การแบ่งปันและมิตรภาพ การมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี มีระบบรักษาความปลอดภัยภายในอาคารที่ดี มีระบบและอุปกรณ์ควบคุมความปลอดภัยในสถานที่ทำงานที่มีมาตรฐาน และไม่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ มีการจัดสถานที่ทำงานให้สะอาด เป็นระเบียบและสวยงาม ตลอดจนแสวงหาวิธีการในการขจัดความจำเจในการทำงาน

   ๑.๔) ค่าตอบแทน สิ่งจูงใจและสิทธิประโยชน์ คณะกำหนดแนวทางและเปิดโอกาสให้บุคลากรมีรายได้เสริม ภายใต้กรอบของกฎระเบียบ จัดระบบจูงใจให้แก่บุคลากรที่มีผลการปฏิบัติงานสูง และจัดหาสิทธิประโยชน์ให้กับบุคลากรนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ตามบทบัญญัติของกฎหมาย

๒) การปฏิบัติตนของบุคลากรในทุกระดับ

   ๒.๑) บุคลากรไม่พึงกระทำการอันใดที่ขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดีของสังคม และจรรยาบรรณของคณะ ตลอดจนสร้างความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในคณะ

   ๒.๒) บุคลากรพึงแสวงหาความเป็นเลิศและความก้าวหน้าในวิชาชีพ โดยต้องมุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาความสามารถและทักษะในวิชาชีพของตน ตลอดจนสร้างสรรค์ให้ผลงานประสบความสำเร็จด้วยดี

   ๒.๓) บุคลากรพึงรับผิดชอบต่อนิสิต โดยอุทิศตนในการส่งเสริมและสนับสนุนนิสิตอย่างเต็มกำลังความสามารถ ตลอดจนการให้บริการต่างๆ ที่ดีต่อนิสิต

   ๒.๔) บุคลากรพึงรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียหลัก อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ปกครองนิสิต ผู้จัดหา และชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น

   ๒.๕) บุคลากรพึงรักษาชื่อเสียงของคณะ ประพฤติตนอย่างเหมาะสม ให้เกียรติต่อกัน ใช้วิจารณญาณในการทำงานให้ลุล่วงสำเร็จโดยมุ่งผลลัพธ์ที่จะเกิดกับคณะเป็นหลัก ตลอดจนดูแล รักษาทรัพย์สินของหน่วยงานให้มีสภาพดี ใช้ประโยชน์ทรัพยากรของหน่วยงานอย่างคุ้มค่าและประหยัด ไม่นำทรัพย์สินของคณะ รวมทั้งเทคโนโลยี ผลการวิจัย สิ่งประดิษฐ์และข้อมูลอื่นๆ ของคณะ ที่ไม่พึงเปิดเผยไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่นอันมิได้เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะ

   ๒.๖) บุคลากรพึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ไม่แสวงหาประโยชน์ใดทั้งทางตรงและทางอ้อม อันเป็นการส่อเจตนาไปในทางทุจริต

   ๒.๗) บุคลากรพึงเคารพ เชื่อฟังและปฏิบัติงาน ตามที่ได้รับการมอบหมายหน้าที่โดยชอบจากผู้บริหาร

นอกจากนี้ บุคลากรของคณะที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์ พึงประพฤติ ปฏิบัติตนตามหลักจรรยาบรรณอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๑๐ ประการ ด้วยกันคือ

   ๒.๘) อาจารย์พึงดำรงตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ บุคคลทั่วไปและสังคม

   ๒.๙) อาจารย์พึงสอนศิษย์ให้เป็นผู้มีความรู้และคุณธรรมอย่างเต็มความสามารถ ช่วยเหลือและปฏิบัติต่อศิษย์อย่างมีเมตตาและเป็นธรรม

   ๒.๑๐) อาจารย์พึงปฏิบัติตนและหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติด้วยความเสียสละ อดทน ซื่อสัตย์สุจริต

   ๒.๑๑) อาจารย์พึงหมั่นศึกษา ค้นคว้า ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง

   ๒.๑๒) อาจารย์พึงปฏิบัติงานโดยมีเสรีภาพทางวิชาการบนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นธรรม ไม่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลหรือผลประโยชน์ใด

   ๒.๑๓) อาจารย์พึงเป็นนักวิจัยที่มีจริยธรรมและพัฒนางานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อศาสตร์และสังคมโดยส่วนรวม

   ๒.๑๔) อาจารย์พึงปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานเยี่ยงกัลยาณมิตร สามัคคี ส่งเสริมและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

   ๒.๑๕) อาจารย์พึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาและธำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

   ๒.๑๖) อาจารย์พึงให้บริการวิชาการด้วยความรับผิดชอบต่อผู้อื่น สังคมและประเทศชาติ

   ๒.๑๗) อาจารย์พึงปฏิบัติ อนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาภูมิปัญญาไทย

๓) ความรับผิดชอบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมและสังคมประเทศ

   คณะ ในฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐและสังคมประเทศ นอกจากการทำหน้าที่จัดการศึกษา วิจัย บริการทางวิชาการ และทำนุ บำรุงศิลปวัฒนธรรมแล้ว คณะจักต้องรับผิดชอบในการพัฒนาชุมชนที่คณะตั้งอยู่ให้มีความเข้มแข็ง สนับสนุนกิจกรรมอันดีของชุมชน ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

๔) การต่อต้านการทุจริต

   การทุจริตถือเป็นวาระแห่งชาติที่บ่อนทำลายความเจริญก้าวหน้าของประเทศ คณะในฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ จึงต้องมุ่งมั่นป้องกันและปราบปราม และดำเนินงานด้วยความโปร่งใสและสุจริต ตลอดจนกำหนดนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยแนวปฏิบัติของบุคลากรทุกระดับ มีดังนี้

   ๔.๑) การรับของขวัญและของกำนัล บุคลากรทุกระดับ พึงหลีกเลี่ยงการกระทำอันจะนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อนและการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น บุคลากรทุกระดับของคณะควรงดการให้และการรับของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใดจากผู้มีส่วนได้เสีย อันอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามประเพณีนิยม และมูลค่าในการให้และการรับของขวัญหรือผลประโยชน์อื่นใด ต้องไม่เกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนด

   ๔.๒) ผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้บริหารและบุคลากร จักต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในทางที่มิชอบ ให้กับตนเอง ครอบครัวและผู้อื่น ตลอดจนต้องไม่กระทำการใด ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน อันทำให้ผลประโยชน์โดยรวมของคณะและมหาวิทยาลัยได้รับความเสียหาย

   ๔.๓) สินบนและสิ่งจูงใจ ห้ามให้หรือรับสินบนและสิ่งจูงใจในรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น และห้ามมอบหมายให้ผู้อื่น ให้ หรือ รับสินบนและสิ่งจูงใจแทนตนเอง

   ๔.๔) ในการจัดซื้อจัดจ้างของคณะ ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบอย่างเคร่งครัดและดำเนินการด้วยความโปร่งใสและสุจริต

   ๔.๕) การบริหารความเสี่ยง คณะจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้มั่นใจว่าคณะ จะสามารถป้องกันหรือควบคุมความเสี่ยงดังกล่าวได้ โดยกำหนดให้มีการติดตาม การประเมิน และการแก้ไขปรับปรุง ตลอดจนการรายงานความเสี่ยงเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบตามนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่กำหนด

ให้ไว้ ณ วันที่ 11 มีนาคม ๒๕๖๒
(รองศาสตราจารย์ อำนาจ ธีระวนิช)
คณบดีคณะวิทยาการจัดการ