เมื่อรัฐบาลได้กำหนดนโยบาย กระจายความเจริญออกสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศโดยให้แต่ละภูมิภาค มีการพัฒนาศูนย์กลางความเจริญขึ้น ในพื้นที่ของตนเอง โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการมุ่งเน้นให้เกิดเป็นเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่ เนื่องจากศักยภาพความพร้อมของภูมิภาคชายฝั่งทะเลตะวันออกที่มีอยู่เดิมค่อนข้างสูง ดังนั้นนโยบายดังกล่าวจึงทำให้สามารถกระตุ้น การขยายฐานการผลิต ในภาคอุตสาหกรรม และการจ้างงานพร้อมกับส่งเสริมธุรกิจ การค้า การท่องเที่ยวและการบริการเพื่อให้ภูมิภาคนี้ สามารถพึ่งตนเองได้ ตลอดจนเป็นฐานการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ให้กับประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจำต้องเร่งดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการบริการอื่นๆ พร้อมกับเร่งรัดการผลิต และพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการของท้องถิ่น และภูมิภาคเพื่อรองรับความเจริญก้าวหน้า ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถของกำลังแรงงานให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้เป็นการสนับสนุนให้โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก สามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และเกิดประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้ ในการพัฒนาระดับภูมิภาค และประเทศตามลำดับ
จากศักยภาพและความพร้อมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประกอบกับพื้นฐานการจัดการศึกษาเดิม ผนวกเข้ากับความรับผิดชอบ ต่อระบบการศึกษา และการพัฒนาประเทศ ว่าสามารถเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์ พัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกภายใต้ขอบเขตภาระหน้าที่ที่มีอยู่ได้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงจัดทำแผนจัดตั้งคณะวิทยาการจัดการขึ้น ณ วิทยาเขตศรีราชา และจัดให้อยู่ในประเภทสถานศึกษา ระดับอุดมศึกษาที่สามารถขยายโอกาสทางการศึกษา เพื่อตอบสนองการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และการพัฒนาประเทศตามลำดับ โดยมุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนระดับสูง เสริมสร้างงานวิจัยและพัฒนาทางวิชาการ ทางการจัดการธุรกิจอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ธุรกิจบริการสาขาต่างๆ การบริหารสาธารณะและการจัดการการขนส่ง โดยเฉพาะสาขาวิชาที่มีความต้องการ จากฐานการผลิต และระบบเศรษฐกิจหลัก ทั้งระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
หลังจากดำเนินการตามแผน คณะวิทยาการจัดการได้รับความเห็นชอบ ในหลักการให้บรรจุไว้ในแผนพัฒนา การศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 7 ในฐานะ “วิทยาลัยชุมชน” ในปี พ.ศ. 2539 คณะอนุกรรมการพิจารณา จัดตั้งหน่วยงานราชการใหม่ ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ มีมติเห็นชอบให้ขยายจากวิทยาลัยชุมชนเป็นวิทยาเขตศรีราชา และสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อนุมัติให้เป็นวิทยาเขตศรีราชาอย่างสมบูรณ์ ในการประชุมครั้งที่ 3/2542 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 โดยที่มีคณะวิทยาการจัดการเป็นหน่วยงานภายในระดับคณะวิชา มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับผู้ที่สำเร็จการศึกษา ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศ และกระจายโอกาสทางการศึกษา สู่ภูมิภาคพื้นที่ภาคตะวันออก คณะวิทยาการจัดการได้เปิดรับนิสิตรุ่นแรก ในปีการศึกษา 2539 จำนวน 3 สาขาวิชา ได้แก่สาขาการจัดการ สาขาการตลาดและสาขาการโรงแรม และดำเนินการเรียนการสอนครั้งแรก ในวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2539 โดยมุ่งที่จะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ทางด้านการจัดการซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ของการบริหารธุรกิจทุกประเภท มารองรับกับการขยายตัว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการแรงงาน ของภูมิภาคบริเวณชายฝั่งทะเล
วิสัยทัศน์ (Vision)
“คณะชั้นนำระดับประเทศในการบริหารจัดการธุรกิจด้วยความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัย
เพื่อพัฒนานักบริหารและผู้นำที่ถูกยอมรับในระดับสากล “
เจตนารมณ์ (Purpose)
“ให้องค์ความรู้ด้านบริหารจัดการธุรกิจที่ดีที่สุดแก่พลเมืองโลกเพื่อมาตรฐานการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น”
เอกลักษณ์ (Uniqueness)
“มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มุ่งสร้างศาสตร์แห่งแผ่นดิน เพื่อความกินดีอยู่ดีของชาติ”
อัตลักษณ์ (Identity)
“สร้างสรรค์ศาสตร์แห่งแผ่นดิน เพื่อการกินดีอยู่ดีของชาติและของประชาคมโลก”
ค่านิยมในการทำงาน (Core Values : COPE)
- การประสานความร่วมมือ (Collaboration)
- มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของงาน (Outcomes-driven)
- ทำงานเชิงรุกและมีนวัตกรรมในการทำงาน (Proactive and Innovative Working)
- ยึดมั่นความเป็นเลิศ (Excellence-oriented)
พันธกิจ (Mission)
ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของคณะและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ คณะจึงได้กำหนดภารกิจที่ใช้เป็นแนวทางหลักในการดำเนินงาน ดังนี้
- สร้างระบบการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาลโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี ของบุคลากร
- จัดระบบงานให้มีความทันสมัย โดยยึดหลักความคล่องตัว ยืดหยุ่น รวดเร็ว และเน้นใช้ทรัพยากรไปในการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรและคุณภาพการศึกษาของนิสิตอย่างคุ้มค่า
- สร้างสรรค์และพัฒนาหลักสูตรที่อยู่ในความต้องการของตลาดทั้งในปัจจุบันและอนาคต อย่างต่อเนื่องรวมถึงจัดกระบวนการเรียนรู้ของนิสิตที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยเพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็น พลเมืองโลกที่มีคุณภาพ
- สะสมสร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานวิจัยและองค์ความรู้ด้านบริหารธุรกิจแก่ภาครัฐ ธุรกิจ และเอกชนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม
- สืบสาน ทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมไทยและหล่อหลอมอัตลักษณ์ของเกษตรศาสตร์ ให้เป็นวัฒนธรรมของคณะ
กลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนสู่อนาคตด้วย PRIME
คณะวิทยาการจัดการวางแนวทางการบริหารจัดการคณะฯ ในการที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ เป้าหมาย (6Us) และยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สร้างสรรค์ศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
- พัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับสากล
- เพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงานตามภารกิจ
- ใช้หลักธรรมมาภิบาล
- เพิ่มศักยภาพในการบริหารและจัดหาทรัพยากร
โดยกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Objectives) 5 ประการ (PRIME) ดังนี้
P : Programs of Academic Excellence หลักสูตรแห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ (ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ 2)
การพัฒนาหลักสูตรใหม่ของคณะต้องคำนึงถึงความต้องของผู้มีส่วนได้เสียและผลประโยชน์ ของประเทศในอนาคต โดยหลักสูตรใหม่ต้องสร้างคุณค่าให้กับคณะ
R : Research-oriented มุ่งเน้นการไปสู่คณะวิจัยในด้านบริหารธุรกิจ (ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ 1)
I : Integration to Society การบูรณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจและผลงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการให้บริการวิชาการแก่บุคคลภายนอกและการผลิตบัณฑิต (ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ 1 ) โดยผ่านศูนย์บูรณาการทางธุรกิจ
M : Management Model การเป็นตัวแบบทางการจัดการที่ดี (ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ 3, 4,5)
E : Embedded การนำอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ 4)
“5 เสาหลักในการพัฒนาคณะวิทยาการจัดการเป็น Great Faculty”
เสาที่ 1 ธรรมาภิบาลและการบริหารที่ดี (Good Governance and Management)
- โครงสร้างคณะฯ ต้องคล่องตัว คุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร บริหารทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
- บุคคลากร จัดสรรและพัฒนาบุลากร โดยให้ความสำคัญทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน ทางสายวิชาการส่งเสริมให้ทุนนิสิตที่มีศักยภาพเรียนต่อปริญญาโท-เอกมากขึ้น ผลักดันให้มีการขอตำแหน่งทางวิชาการมากขึ้นและเร็วขึ้นโดยเพิ่มทุนการพัฒนางานวิจัยผ่านการสนับสนุนโดยระบบ mentor และ peer ทางสายสนับสนุนผลักดันให้เพิ่มชำนาญการ เพื่อยกระดับการบริการให้กับนิสิตและอาจารย์ เพิ่มโครงการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาตนเอง ให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น
- การเงิน แสวงหารายได้และแหล่งรายได้อย่างยั่งยืน เพิ่มรายได้จากการบริการวิชาการผ่านหลักสูตรอบรมระยะสั้นและหลักสูตร non-degree ในรูปแบบทั้ง onsite/online เพิ่มรายได้จากงานวิจัยที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและชุมชน เพิ่มรายได้จากสินทรัพย์ของคณะฯโดยการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
- เทคโนโลยี พัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในทุกระดับ (ผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน นิสิต และศิษย์เก่า) ให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง ทันเวลา และนำไปใช้ประโยชน์ได้
เสาที่ 2 สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการสู่ระดับสากล (Global Academic Programs)
- ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยและโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเช่น Entrepreneurship and Enterprise Management เพิ่มเนื้อหาที่ทันสมัยเช่น Financial Technology, Wealth Management, Digital Literacy เป็นต้น
- เพิ่มหลักสูตรประกาศนียบัตรแบบ continuing professional development (จากระดับนักเรียนนิสิต สู่บัณฑิต ศิษย์เก่า ผู้สนใจ ไปถึง ผู้บริหาร ผู้นำธุรกิจ) ที่มาจากการบูรณาการหลากหลายสาขาวิชาในคณะฯ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เช่นหลักสูตรผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล
- เสริมสร้างความเป็นนานาชาติ โดยมีหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษทุกสาขาวิชาของคณะฯ เพิ่มหลักสูตรนานาชาติ สร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศมากขึ้น เพิ่ม MOU ในการแลกเปลี่ยนนิสิตและอาจารย์ต่างชาติ เพิ่มทุนการศึกษาให้นิสิตต่างชาติ เพื่อเพิ่ม Inbound-Outbound เพิ่ม Ranking และยกระดับคณะฯ ให้สากลมากขึ้น
เสาที่ 3 พัฒนากลุ่มวิจัยระหว่างสาขาวิชา (Innovative Research Clusters)
- ยกระดับผลงานทางวิชาการ
- เพิ่มรายได้จากงานวิจัย
- ยกระดับวารสาร พัฒนาการจัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ
- การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการทำงานร่วมกันระหว่างสาขาวิขา
เสาที่ 4 สิ่งแวดล้อมพร้อมทำงาน (Attractive Environment)
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เหมาะสมและปลอดภัยกับการเรียนและการทำงาน
- เพิ่มพื้นที่สีเขียวในคณะฯ รวมถึงการดำเนินการต่างๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เสาที่ 5 ครอบครัว วจก. สุขสันต์ (Happy MS Family)
- สร้างความสุขให้เกิดขึ้นในการเรียนและในการทำงาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
ตราประจำมหาวิทยาลัย
ตราประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปวงกลม มีรูปพระพิรุณทรงนาคอยู่กึ่งกลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัวคว่ำและกลีบบัวหงายและมีข้อความว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.๒๔๘๖” ล้อมรอบเป็นชั้นนอกสุด ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 เล่มที่ 114 ตอนพิเศษ 104 ง
ตราประจำคณะ
ตราประจำคณะวิทยาการจัดการ เป็นรูปพังงา ประกอบกับตัวอักษร “KU” หมายถึง Kasetsart University และ “MS” หมายถึง Faculty of Management Sciences ในส่วนท้ายมีข้อความระบุว่าคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
สีประจำคณะ : สีฟ้าใส (code: #3ecdeaa
1. วิทยาการจัดการ ศรีราชา
2. สามัคคีสีฟ้า ศรีราชา
3. ชิวิตสุขสันต์
4. วันต้องจากกัน
5. MS Represent
6. GET A
7. จากคนในคณะ (Secret admirer)
8. พังงาในหัวใจ
9. AGGIE CHEER
10. ออกทะเล
โครงสร้างการแบ่งส่วนงานคณะวิทยาการจัดการ
หน่วยงานภายในคณะ
สำนักเลขานุการ คณะวิทยาการจัดการ
(Office of the Faculty Secretary)
- งานบริหารทั่วไป
- งานยุทธศาสตร์และการคลัง
- งานบริการกลาง
ศูนย์บริการการศึกษา คณะวิทยาการจัดการ
(Education Services Center)
- งานบริการการศึกษาและพัฒนานิสิต
ศูนย์บูรณาการทางธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ
(Business Integration Center)
- งานวิจัยและบริการวิชาการ
สถาบันวิชาการวิทยาการจัดการ
(Academy of Management Sciences)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการ)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (การตลาด)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (ธุรกิจระหว่างระเทศ)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (การบัญชีบริหาร)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการโลจิสติกส์)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (การเงินและการลงทุน)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเชิงธุรกิจ)
- หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา
ประกาศคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
ฉบับที่ ๑/๒๕๖๒
ว่าด้วย ประมวลหลักจรรยาบรรณคณะวิทยาการจัดการ
เพื่อให้การดำเนินงานของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลเจ้าหน้าที่ของรัฐและยุทธศาสตร์ ที่ ๔ (การใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน) ระยะ ๑๒ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๑) ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ จึงได้ออกประกาศว่าด้วยประมวลหลักจรรยาบรรณคณะวิทยาการจัดการ ดังต่อไปนี้
ค่านิยมหลัก
บุคลากรของคณะในทุกระดับ จักต้องตระหนักถึงความสำคัญและประพฤติปฏิบัติตนตามค่านิยมหลักของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อหล่อหลอมให้เป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ดังนี้
๑) สำนึกดี (Integrity)
๒) มุ่งมั่น (Determination)
๓) สร้างสรรค์ (Knowledge Creation)
๔) สามัคคี (Unity)
เจตนารมณ์คณะวิทยาการจัดการ
คณะวิทยาการจัดการตระหนักถึงความสำคัญของธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน อันเป็นองค์ประกอบหลักในการเสริมสร้างคณะให้มีความเข้มแข็งและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน มีศักยภาพในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง ทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการ ศีลธรรม ภาษา เทคโนโลยี และวัฒนธรรมข้ามชาติ ที่บัณฑิตของคณะสามารถนำไปใช้ในการดำรงตน การประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง ก้าวหน้า และ ประสบความสำเร็จ การใช้ทรัพยากรของคณะจึงต้องเน้นไปที่การสร้างคุณภาพการศึกษาให้กับนิสิตอย่างคุ้มค่า
บุคลากรของคณะถือเป็นเสาหลักในการดำเนินงาน คณะจักต้องรับผิดชอบต่อบุคลากรทุกคนในฐานะทรัพยากรที่มีคุณค่า โดยเคารพในเกียรติความเป็นมนุษย์อย่างสมศักดิ์ศรี ให้มีความมั่นคงในงานและให้คุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม ให้โอกาสก้าวหน้าในอาชีพอย่างเท่าเทียมกันตามคุณสมบัติที่แต่ละบุคคลมีอยู่ให้ความเอาใจใส่ในทุกวิถีทางเพื่อสนับสนุนบุคลากรให้ประสบความสำเร็จในสายงาน สภาพที่ทำงานมีความปลอดภัย สะอาดเรียบร้อย บุคลากรทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและร้องทุกข์ และต้องได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม
คณะต้องมีความรับผิดชอบต่อชุมชนที่คณะตั้งอยู่ โดยปฏิบัติตนในฐานะพลเมืองที่ดีของสังคม ให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านต่างๆ ของชุมชน ปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ คณะมีความเชื่อว่า ถ้าคณะดำเนินงานตามเจตนารมณ์ข้างต้นนี้แล้ว คณะจะสามารถผลิตบัณฑิตให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพสูง จนเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนคณะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประเทศชาติโดยรวมให้เจริญก้าวหน้าต่อไปด้วยดี
หลักจรรยาบรรณในเชิงนโยบายของคณะวิทยาการจัดการ
ในการที่จะดำรงไว้ซึ่งผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องและเสริมสร้างชื่อเสียงอันดีงามให้ดำรงไว้อย่างยั่งยืน คณะ มุ่งมั่นที่จะดำเนินงานภายใต้กรอบของกฎหมาย ระมัดระวัง รอบคอบ โปร่งใสและเปิดเผย มีความจงรักภักดีต่อมหาวิทยาลัย โดยเน้นการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ มีการบริหารความเสี่ยงตามหลักธรรมาภิบาล ผู้บริหารคณะ จึงได้นำหลักธรรมาภิบาลมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของคณะ และมีการติดตามผลการปฏิบัติตามนโยบาย โดยประกาศใช้หลักจรรยาบรรณ ดังนี้
๑) การปฏิบัติตนของคณะต่อบุคลากร
คณะ ตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากรในฐานะทรัพยากรที่มีค่า ดังนั้นคณะต้องเอาใจใส่ ดูแลและส่งเสริมชีวิต ความเป็นอยู่ของบุคลากร บนพื้นฐานความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีต่อกัน เพื่อสร้างสังคมแห่งความเป็นมิตร การแบ่งปันความรู้ การช่วยเหลือเกื้อกูล ตลอดจนส่งเสริมความก้าวหน้าและเติบโตที่ยั่งยืนให้กับบุคลากร ดังนั้นคณะพึงปฏิบัติต่อบุคลากร ดังนี้
๑.๑) สิทธิมนุษยชน คณะเชื่อและเคารพในสิทธิของบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด และสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล อันได้แก่ สิทธิที่จะได้รับความจริงใจ สิทธิว่าด้วยความลับ สิทธิว่าด้วยเสรีภาพในการรู้ผิดรู้ชอบ สิทธิว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิว่าด้วยการครอบครองทรัพย์สินส่วนตัว และ สิทธิว่าด้วยการดำเนินชีวิตและความปลอดภัย นอกจากนี้ คณะจะต้องมีความเอื้ออารี ปฏิบัติต่อบุคลากรทุกคนอย่างเสมอภาค เอาใจใส่และรับฟังความคิดเห็นด้วยความยุติธรรม การให้ความสำคัญกับทุกตำแหน่งหน้าที่ ทุกส่วนงาน โดยไม่เลือกปฏิบัติ
๑.๒) การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การเปิดโอกาสให้บุคลากรใช้ความรู้ความสามารถในการทำงานอย่างเต็มที่ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถและเสริมสร้างประสบการณ์ของบุคลากรเพื่อพัฒนาสมรรถนะ โดยส่งเสริมให้บุคลากรได้รับการฝึกอบรมทั้งจากภายในและภายนอกคณะ ยกระดับคุณวุฒิการศึกษา ตำแหน่งทางวิชาการ ตลอดจนการเรียนรู้ตลอดชีพ เพื่อให้บุคลากรได้พัฒนาความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก นอกจากนี้ คณะเปิดโอกาสให้บุคลากรได้สร้างความก้าวหน้าในตำแหน่งงานตามศักยภาพของแต่ละบุคคล เพื่อการเติบโตในอาชีพ
๑.๓) คุณภาพชวิตในการทำงาน คณะตระหนักถึงความสมดุลของชีวิตและงาน การช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน การแบ่งปันและมิตรภาพ การมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี มีระบบรักษาความปลอดภัยภายในอาคารที่ดี มีระบบและอุปกรณ์ควบคุมความปลอดภัยในสถานที่ทำงานที่มีมาตรฐาน และไม่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ มีการจัดสถานที่ทำงานให้สะอาด เป็นระเบียบและสวยงาม ตลอดจนแสวงหาวิธีการในการขจัดความจำเจในการทำงาน
๑.๔) ค่าตอบแทน สิ่งจูงใจและสิทธิประโยชน์ คณะกำหนดแนวทางและเปิดโอกาสให้บุคลากรมีรายได้เสริม ภายใต้กรอบของกฎระเบียบ จัดระบบจูงใจให้แก่บุคลากรที่มีผลการปฏิบัติงานสูง และจัดหาสิทธิประโยชน์ให้กับบุคลากรนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ตามบทบัญญัติของกฎหมาย
๒) การปฏิบัติตนของบุคลากรในทุกระดับ
๒.๑) บุคลากรไม่พึงกระทำการอันใดที่ขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดีของสังคม และจรรยาบรรณของคณะ ตลอดจนสร้างความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในคณะ
๒.๒) บุคลากรพึงแสวงหาความเป็นเลิศและความก้าวหน้าในวิชาชีพ โดยต้องมุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาความสามารถและทักษะในวิชาชีพของตน ตลอดจนสร้างสรรค์ให้ผลงานประสบความสำเร็จด้วยดี
๒.๓) บุคลากรพึงรับผิดชอบต่อนิสิต โดยอุทิศตนในการส่งเสริมและสนับสนุนนิสิตอย่างเต็มกำลังความสามารถ ตลอดจนการให้บริการต่างๆ ที่ดีต่อนิสิต
๒.๔) บุคลากรพึงรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียหลัก อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ปกครองนิสิต ผู้จัดหา และชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
๒.๕) บุคลากรพึงรักษาชื่อเสียงของคณะ ประพฤติตนอย่างเหมาะสม ให้เกียรติต่อกัน ใช้วิจารณญาณในการทำงานให้ลุล่วงสำเร็จโดยมุ่งผลลัพธ์ที่จะเกิดกับคณะเป็นหลัก ตลอดจนดูแล รักษาทรัพย์สินของหน่วยงานให้มีสภาพดี ใช้ประโยชน์ทรัพยากรของหน่วยงานอย่างคุ้มค่าและประหยัด ไม่นำทรัพย์สินของคณะ รวมทั้งเทคโนโลยี ผลการวิจัย สิ่งประดิษฐ์และข้อมูลอื่นๆ ของคณะ ที่ไม่พึงเปิดเผยไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่นอันมิได้เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะ
๒.๖) บุคลากรพึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ไม่แสวงหาประโยชน์ใดทั้งทางตรงและทางอ้อม อันเป็นการส่อเจตนาไปในทางทุจริต
๒.๗) บุคลากรพึงเคารพ เชื่อฟังและปฏิบัติงาน ตามที่ได้รับการมอบหมายหน้าที่โดยชอบจากผู้บริหาร
นอกจากนี้ บุคลากรของคณะที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์ พึงประพฤติ ปฏิบัติตนตามหลักจรรยาบรรณอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๑๐ ประการ ด้วยกันคือ
๒.๘) อาจารย์พึงดำรงตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ บุคคลทั่วไปและสังคม
๒.๙) อาจารย์พึงสอนศิษย์ให้เป็นผู้มีความรู้และคุณธรรมอย่างเต็มความสามารถ ช่วยเหลือและปฏิบัติต่อศิษย์อย่างมีเมตตาและเป็นธรรม
๒.๑๐) อาจารย์พึงปฏิบัติตนและหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติด้วยความเสียสละ อดทน ซื่อสัตย์สุจริต
๒.๑๑) อาจารย์พึงหมั่นศึกษา ค้นคว้า ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง
๒.๑๒) อาจารย์พึงปฏิบัติงานโดยมีเสรีภาพทางวิชาการบนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นธรรม ไม่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลหรือผลประโยชน์ใด
๒.๑๓) อาจารย์พึงเป็นนักวิจัยที่มีจริยธรรมและพัฒนางานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อศาสตร์และสังคมโดยส่วนรวม
๒.๑๔) อาจารย์พึงปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานเยี่ยงกัลยาณมิตร สามัคคี ส่งเสริมและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
๒.๑๕) อาจารย์พึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาและธำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
๒.๑๖) อาจารย์พึงให้บริการวิชาการด้วยความรับผิดชอบต่อผู้อื่น สังคมและประเทศชาติ
๒.๑๗) อาจารย์พึงปฏิบัติ อนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาภูมิปัญญาไทย
๓) ความรับผิดชอบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมและสังคมประเทศ
คณะ ในฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐและสังคมประเทศ นอกจากการทำหน้าที่จัดการศึกษา วิจัย บริการทางวิชาการ และทำนุ บำรุงศิลปวัฒนธรรมแล้ว คณะจักต้องรับผิดชอบในการพัฒนาชุมชนที่คณะตั้งอยู่ให้มีความเข้มแข็ง สนับสนุนกิจกรรมอันดีของชุมชน ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๔) การต่อต้านการทุจริต
การทุจริตถือเป็นวาระแห่งชาติที่บ่อนทำลายความเจริญก้าวหน้าของประเทศ คณะในฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ จึงต้องมุ่งมั่นป้องกันและปราบปราม และดำเนินงานด้วยความโปร่งใสและสุจริต ตลอดจนกำหนดนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยแนวปฏิบัติของบุคลากรทุกระดับ มีดังนี้
๔.๑) การรับของขวัญและของกำนัล บุคลากรทุกระดับ พึงหลีกเลี่ยงการกระทำอันจะนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อนและการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น บุคลากรทุกระดับของคณะควรงดการให้และการรับของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใดจากผู้มีส่วนได้เสีย อันอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามประเพณีนิยม และมูลค่าในการให้และการรับของขวัญหรือผลประโยชน์อื่นใด ต้องไม่เกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนด
๔.๒) ผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้บริหารและบุคลากร จักต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในทางที่มิชอบ ให้กับตนเอง ครอบครัวและผู้อื่น ตลอดจนต้องไม่กระทำการใด ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน อันทำให้ผลประโยชน์โดยรวมของคณะและมหาวิทยาลัยได้รับความเสียหาย
๔.๓) สินบนและสิ่งจูงใจ ห้ามให้หรือรับสินบนและสิ่งจูงใจในรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น และห้ามมอบหมายให้ผู้อื่น ให้ หรือ รับสินบนและสิ่งจูงใจแทนตนเอง
๔.๔) ในการจัดซื้อจัดจ้างของคณะ ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบอย่างเคร่งครัดและดำเนินการด้วยความโปร่งใสและสุจริต
๔.๕) การบริหารความเสี่ยง คณะจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้มั่นใจว่าคณะ จะสามารถป้องกันหรือควบคุมความเสี่ยงดังกล่าวได้ โดยกำหนดให้มีการติดตาม การประเมิน และการแก้ไขปรับปรุง ตลอดจนการรายงานความเสี่ยงเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบตามนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่กำหนด
ให้ไว้ ณ วันที่ 11 มีนาคม ๒๕๖๒
(รองศาสตราจารย์ อำนาจ ธีระวนิช)
คณบดีคณะวิทยาการจัดการ